ย้อนความหลัง ๖๐ ปี ที่ปีนัง : ตอนที่ 1 จากกรุงเทพมหานครถึงเมืองปีนัง

ผู้เขียนเคยไปเยือนปีนังเมื่อปี ๒๕๐๗ ตอนนั้นยังเป็นนิสิตปีสุดท้ายของวิทยาลัยวิชาการศึกษา ประสานมิตร หรือมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ในปัจจุบัน

ความจำที่ยังเหลืออยู่บ้างก็คือปีนัง ฮิลล์ และค่างที่นั่น แต่ไปคราวนี้ไม่เจอค่างแล้วครับ ไม่ทราบว่าเขาจับไปไว้ที่อื่นเช่นเดียวกับลิงที่เมืองไทยหรือไม่ หรือล้มหายตายจากไปแล้ว

การท่องเที่ยวปีนังในครั้งนั้นเป็นการท่องเที่ยวต่างประเทศครั้งแรกในชีวิตของผู้เขียน และการเดินทางในครั้งนั้นเดินทางด้วยรถบัส

๖๐ ปี ผ่านไป ผู้เขียนได้ท่องเที่ยวทุกทวีปในโลกมาแล้วกว่า ๗๐ ประเทศ หวนคิดถึงปีนังว่าคงเปลี่ยนแปลงไปเยอะมาก ควรไปเยือนปีนังอีกสักครั้ง

แล้วก็เป็นเรื่องที่ช่างเหมาะเจาะเสียนี่กระไร ที่หนังสือเดินทางเล่มเก่าจะหมดอายุลง และเพราะตั้งใจไปเที่ยวซินเกียง ประเทศจีน ในเดือนมิถุนายน หนังสือเดินทางเล่มที่ใช้อยู่นั้นไม่อาจใช้ได้เพราะมีอายุไม่ถึง ๖ เดือน จึงได้ไปทำหนังสือเดินทางเล่มใหม่

การไปปีนังครั้งนี้จึงเป็นการฉลองหนังสือเดินทางเล่มใหม่ และเล่มนี้จะมีอายุใช้งานได้อีกเกือบ ๑๐ ปี ใช้ถึงหรือเปล่าก็ไม่ทราบครับ

ไปต่างประเทศครั้งนี้ไม่ต้องตื่นตั้งแต่เช้าหรือไปในตอนดึกเหมือนหลายๆ ครั้งที่ผ่านมา เพราะทัวร์นัดหมายให้พบกันที่สนามบินดอนเมืองเวลา ๐๙.๐๐ น.

การรอคอยที่บ้านหรือที่สนามบินดอนเมืองแม้ต้องคอยเหมือนกัน แต่รอที่สนามบินดอนเมืองมีค่าใช้จ่ายถูกกว่าเพราะไม่ต้องเสียค่าแอร์ที่บ้าน 

ค่าไฟฟ้าปีนี้ขึ้นรุนแรงมากสาเหตุก็คงมาจากอากาศร้อนนั่นแหละครับ เพราะพฤติกรรมการใช้ไฟฟ้าเหมือนเดิม น่าตกใจที่บ้านผู้เขียนนั้นในเดือนเมษายนนี้สูงกว่าเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้วถึง ๒ เท่า  

ตัดสินใจออกจากบ้านตั้งแต่ ๗ โมงเช้า โดยตั้งใจไปกินอาหารเช้าที่ร้านเมจิค ชั้น ๒ อาคาร ๒ สนามบินดอนเมืองก่อน

แล้วก็ได้ความรู้ใหม่ว่า สนามบินดอนเมืองเดี๋ยวนี้ไม่อนุญาตให้แท็กซี่จอดหน้าประตูทางเข้าอาคาร ๒ แล้ว แต่ให้ไปจอดที่จุดๆ หนึ่งซึ่งต้องเดินลงบันไดเลื่อนเข้าไปในอาคาร ๒ แทน

ดังนั้น ตอนนี้ผู้โดยสารขาเข้าจึงไม่อาจเรียกรถแท็กซี่ที่หน้าอาคาร ๒ ได้อีกแล้ว  ต้องใช้บริการของรถแท๊กซี่ซึ่งขึ้นทะเบียนไว้แทน แน่นอนผู้โดยสารต้องเสียค่าบริการเพิ่มขึ้นอีกคันละ ๕๐ บาท 

แต่หากไม่ต้องการเสีย ๕๐ บาท ก็อาจเดินไปขึ้นแท็กซี่ที่หน้าอาคาร ๑ อาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศได้ เพราะตอนนี้ยังอนุญาตให้รถแท๊กซี่เข้าจอดที่หน้าอาคาร ๑ ได้อยู่

ท่านผู้อ่านคงสงสัยว่าไปปีนัง แล้วเหตุใดจึงไปกินอาหารที่อาคาร ๒ อาคารผู้โดยสารภายในประเทศ เหตุผลก็คือได้ใช้เวลากินอย่างสบาย หลังกินอาหารเสร็จแล้ว จะได้ใช้เวลาซึ่งมีเหลือเฟือนั้นออกกำลังกายด้วย 

ไม่ได้เข้าฟิตเนสที่ไหนหรอกครับ แต่ออกกำลังกายโดยการเดินไปอาคาร ๑ อาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศไงละครับ วันนั้นเดินได้ตั้ง ๓,๒๒๑ ก้าว

หลังจากผ่าน ตม. แล้ว ก็ไปร้านสินค้าปลอดภาษี (Duty free) 

นานๆ ได้เข้าสักครั้งหนึ่งหรอกครับ เพราะพอเพียงแล้ว แต่วันนั้นต้องแวะ เพราะต้องการซื้อช็อกโกแลตชนิดดำ (Dark chocolate) 

ผู้สูงวัยควรกินเป็นประจำนะครับ เพราะช็อกโกแลตชนิดดำมีประโยชน์มากมายหลายอย่าง คือมีผลดีต่อการทำงานของหัวใจและระบบไหลเวียนโลหิต ลดความเสี่ยงในการเกิดหลอดเลือดสมองตีบตัน เพิ่มระดับไขมันชนิดดี มีผลดีต่อผิวหนัง เพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของสมอง และอุดมด้วยสารต้านอนุมูลอิสระ

สว. ท่านใดยังไม่กินหรือไม่ค่อยได้กินก็กินได้แล้วครับ

ออกจากกรุงเทพมหานครได้เวลาที่กำหนด เวลา ๑๒.๑๐ น. ก็ออกเดินทาง จุดหมายปลายทางคือท่าอากาศยานนานาชาติปีนัง ประเทศมาเลเซีย 

ตั้งใจซื้ออาหารกลางวันกินบนเครื่องกิน แต่ผิดหวัง  เพราะสายการบินนี้มีแต่อาหารสำเร็จรูป หรืออาหารบรรจุหีบห่อ (Packaged Food) เท่านั้น หาข้าวกินไม่ได้

แต่เดินทางไปกับคุณสายพิณหายห่วงครับ เพราะเธอพกอาหารเยอะ เต็มกระกระเป๋า วันนั้นได้กินขนมเปี๊ยะ สาหร่าย และของขบเคี้ยวทั้งหลาย นอกจากนั้น ยังมีช็อกโกแลตชนิดดำที่เพิ่งซื้อมาอีกต่างหาก ประหยัดไปมื้อหนึ่งครับ

วันที่เดินทางท้องฟ้าโปร่ง เมฆสวยงามมากครับ

ไม่เคยไปปีนังโดยเครื่องบิน วันนั้นได้เห็นปีนังบนมุมสูงแล้วครับ

สายการบินแจ้งว่าใช้เวลาบิน ๑ ชั่วโมง ๒๕ นาที แต่ถึงท่าอากาศยานนานาชาติปีนัง เมื่อเวลา ๑๔.๔๐ น. ไม่ต้องสงสัยว่าผู้เขียนระบุเวลาเดินทางถึงผิดหรือไม่ ไม่ผิดหรอกครับ เพราะประเทศมาเลเซีย เวลาเร็วกว่าประเทศไทย ๑ ชั่วโมง

ถ่ายรูปภายในสนามบินปีนังเท่าที่ทำได้ครับ

ตอนที่เข้าตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) นักท่องเที่ยวเข้าคิวรอเยอะมาก

เข้าใจว่าเจ้าหน้าที่ที่ตรวจผู้เขียนคงมีปัญญาที่แขน ถลกเสื้อแล้วลูบไปมา พร้อมกับคุยกับ จนท. ข้างเคียงไปด้วย ทำให้ตรวจช้ามาก จนท. ผู้อื่นตรวจไปได้ ๓ คน แต่หล่อนตรวจได้คนเดียว ในภาพรวม จนท. ตม. ทำงานสู้ของบ้านเราไม่ได้หรอกครับ

ผู้เขียนไปเที่ยวเมืองจีนบ่อย อายุเท่าผู้เขียนไม่ต้องสแกนนิ้วแล้ว แต่ที่ปีนังต้องสแกนนิ้วชี้ทั้งสองข้าง

ทราบภายหลังจากไกด์ว่าทุกวันศุกร์ เจ้าหน้าที่ ตม. ไปทำละมาดกัน บางครั้งเจ้าหน้าที่ ตม. ไปหมดพร้อมกันทุกคน นักท่องเที่ยวต้องรอถึง ๒๐ นาที

หลังจากผ่านพิธีตรวจคนเข้าเมืองแล้ว คณะทั้งหมดซึ่งมีประมาณ ๕๐ คน ก็แยกกัน กลุ่มที่ซื้อเฉพาะค่าเครื่องบินและโรงแรมซึ่งเที่ยวเองก็นั่งแท็กซี่เข้าโรงแรม ทราบว่าประมาณ ๑๘ ริงกิต (ริงกิตละประมาณ ๘ บาท)

ส่วนกลุ่มที่ซื้อค่าทัวร์เพิ่มอีก ๒,๐๐๐ บาท และต้องค่าทิปคนขับรถและไกด์ท้องถิ่นอีกคนละ ๑,๕๐๐ บาท ก็ขึ้นรถบัส พูดง่ายๆ คือเสียมากกว่ากลุ่มเที่ยวเอง ๓,๕๐๐ บาท แต่มีอาหารกลางวัน ๑ มื้อ

ครับ เพิ่งเดินทางถึงปีนังและพร้อมที่จะเที่ยวในปีนังแล้ว แต่เนื้อที่หมด ไว้อ่านต่อในตอนต่อไปนะครับ

พุธทรัพย์ มณีศรี

Number of View :2
Share

การติดตั้ง Greenstone Digital Library Software

Number of View :30
Share

GNPD Hub ฟีเจอร์ใหม่ในฐานข้อมูล Mintel

Mintel เปิดตัวฟีเจอร์ใหม่ ชื่อว่า “GNPD Hub” หรือ “Global New Products Database Hub” ซึ่งเป็น จุดเริ่มต้นสำหรับการศึกษาและวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับนวัตกรรมกลุ่มผลิตภัณฑ์อุปโภคบริโภคที่ปรับแต่งให้เหมาะกับความสนใจของผู้ใช้งานแต่ละบุคคล

Continue reading Number of View :28
Share

สมุดภาพประจำจังหวัด


สมุดภาพที่เรียบเรียงและเขียนโดยอาจารย์เอนก นาวิกมูลและอาจารย์ธงชัย ลิขิตพรสวรรค์ เป็นแหล่งข้อมูลที่สำคัญที่ช่วยเสนอแนะเกี่ยวกับทรัพยากรภูมิประเทศและประวัติศาสตร์ของแต่ละจังหวัด ซึ่งมีความเป็นเอกลักษณ์และสามารถนำไปใช้ในการศึกษา ท่องเที่ยว และการค้นคว้าวัฒนธรรมอย่างมีประสิทธิภาพได้

คุณสามารถเข้าไปอ่านสมุดภาพได้ที่ลิงก์นี้: https://identity.in.th/web/flipbook/index.php

Continue reading Number of View :86
Share

ยุทธศาสตร์ความพิการแห่งยุโรป ปี 2021-2030

ศึกษาและเรียนรู้ยุทธศาสตร์เพื่อปรับปรุงคุณภาพชีวิตของผู้พิการในสหภาพยุโรป เพื่อให้แน่ใจว่าผู้พิการจะสามารถใช้สิทธิของตนได้อย่างเต็มที่ และการมีโอกาสเท่าเทียมกัน รวมถึงตัวอย่างเทคโนโลยีเพื่ออำนวยความสะดวกผู้พิการทางการได้ยินและทางการพูด จากฐานข้อมูล Mintel

Continue reading Number of View :18
Share

ข้อควรพิจารณาที่สำคัญในการบรรลุความสามารถในการเข้าถึงได้ (accessibility)

การพัฒนาเทคโนโลยีสู่ยุคดิจิทัล ทำให้เกิดความก้าวหน้าที่ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของมนุษย์อย่างมาก ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีดิจิทัลทำให้ผู้คนสามารถเข้าถึงข้อมูล ข่าวสาร และสารสนเทศได้ทุกที่ทุกเวลาอย่างง่ายดายตามที่ต้องการ แต่ในขณะเดียวกันยังมีคนกลุ่มเปราะบางที่ยังขาดโอกาสในการเข้าถึงสารสนเทศและการสื่อสาร เนื่องจากข้อจำกัดหลากหลายประเด็น เช่น ประเด็นส่วนบุคคล ประเด็นทางเศรษฐกิจ หรือ ประเด็นพื้นที่อาศัย โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางที่เป็นคนพิการและผู้สูงอายุซึ่งยังคงเผชิญกับปัญหาความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัล และความสามารถในการเข้าถึงสารสนเทศและการสื่อสาร

Continue reading Number of View :11
Share

ติดตามการเปลี่ยนแปลงในเอกสาร Excel ใน SharePoint ด้วย “ประวัติเวอร์ชัน”


การทำงานร่วมกันบนเอกสาร Excel ที่อัปโหลดบน SharePoint อาจสร้างความสับสนหากคุณไม่รู้ว่าใครแก้ไขข้อมูลอะไร บ้างเมื่อไหร่ ฟีเจอร์ “ประวัติเวอร์ชัน” ใน SharePoint ช่วยให้คุณจัดการกับปัญหานี้ได้อย่างง่ายดาย มาดู วิธีการติดตามการเปลี่ยนแปลงเหล่านั้น

Continue reading Number of View :49
Share
1 2 3 4 319